วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สัญญาให้

   สารบัญ
1.มูลเหตุในการให้ทรัพย์สิน
2.ความหมายและสาระสำคัญของสัญญาให้ 
3.แบบในการให้
4.การเรียกให้ส่งทรัพย์สินที่ยืม
5.การถอนคืนการให้
6.เชิงอรรถ
7.บรรณานุกรม


มูลเหตุในการให้ทรัพย์สิน
_________________________________________________________________________

       การที่ผู้ให้ยกทรัพย์สินให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเสน่หานั้นอาจจะมีมูลเหตุจูงใจหลายอย่างหลายประการแล้วแต่เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับว่ามีเช่นใด แต่การให้ที่มีมูลเหตุที่ผิดกฎหมายถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
       การให้ที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของการให้ในระหว่างที่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา536 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของลักษณะให้ได้บัญญัติว่า "การให้อันจะทำให้เป็นผลต่อเมื่อผู้ให้ตายนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทกฎหมายว่าด้วยมรดกและพินัยกรรม" ซึ่งการให้เช่นนี้ผู้ให้จำต้องให้ เพราะเมื่อผู้ให้ถึงแก่ความตายก็จะเอาทรัพย์สินไปด้วยไม่ได้
       การให้จึงแยกได้ออกเป็น 2 ประการคือ การให้ในระหว่างที่ผู้ให้มีชีวิตอยู่กับการให้ที่จะเป็นผลเมื่อผู้ให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งในกรณ๊หลังนี้ผู้สนใจก็ต้องไปศึกษาในวิชามรดก และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว


ความหมายและสาระสำคัญของสัญญาให้
_________________________________________________________________________

       ประวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 บัญญัติว่า "อันว่าให้นั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับและผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น"
       สัญญาให้เป็นสัญญาซึ่งมีคู่สัญญาสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับ และทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาให้ มีการโอนและรับโอนทรรัพย์สินอันเป็นวัตุของสัญญา ด้วยเหตุนี้ความสำคัญของสัญญาให้จึงอยู่ที่การตกลงของเจตนาซึ่งผู้ให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้รับโดยมิได้ค่าตอบแทน และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น จึงเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน
       สัญญาให้ไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทน เพราะผู้รับไม่ต้องทำหน้าที่ตอบแทนอย่างไร คงรับเอาประโยชน์จากผู้ให้แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น และผู้ให้ก็ให้ไปโดยเสน่หา

       คำพิพากษาฎีกาที่ 47/2491  การให้เงินแก่สมาคมที่ตั้งขึ้นโดยมิได้จดทะเบียนตามกฎหมายนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะมีแต่ผู้ให้ ไม่มีบุคคลเป็นผู้รับ ผู้ให้จึงคงเป็นเจ้าของเงินนั้นอยู่

       คำพิพากษาฎีกาที่ 239/2514  ตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 มาตรา 5 ให้มัสยิดซึ่งได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเป็นนิติบุคคล หมายความว่าให้เป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นต้นไป ดังนั้น จะถือว่ามีการยกที่ดินให้มัสยิดก่อนการจดทะเบียนย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะการให้ต้องมีผู้รับ

       คำพิพากษาฎีกาที่ 806/2501  มารดาหญิงตกลงยกที่ดินมีโฉนดให้เป็นกองทุน ชายก็มีเงินเป็นกองทุน ดังนั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทน ไม่ใช่ให้โดยเสน่หา เมื่อสมรสแล้วชายฟ้องบังคับให้โอนโฉนดได้

       คำพิพากษาฎีกาที่ 321-322/2505  สิทธิรับจำนองเป็นอสังหาริมทรัพย์ การยกสิทธิรับจำนองให้แก่กันต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
       นอกจากการให้ทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 522 ยังบัญญัติไว้อีกว่า "การให้นั้นจะทำด้วยปลดหนี้ให้แก่ผู้รับ หรือด้วยชำระหนี้ซึ่งผู้รับค้างชำระอยู่ก็ได้[1]"



แบบของการให้
__________________________________________________________________________

       หากดูในด้านแห่งความสมบูรณ์ของสัญญาแล้วอาจจะแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ 1.สัญญาสมบูรณ์โดยมีเจตนาตกลงกัน กับ 2.สัญญาสมบูรณ์โดยทำตามแบบ ที่ว่าสัญญาสมบูรณ์โดยมีเจตนาตกลงกันนั้น หมายความว่า คู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องทำตามแบบอย่างใดเลย เมื่อได้มีการตกลงกันขึ้นจะเป็นโดยแสดงอากัปกิริยาหรือจะเป็นโดยปริยาย ก็ถือว่าสัญญานั้นสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ส่วนสัญญาชนิดที่สมบูรณ์ โดยทำตามแบบนั้นคู่สัญญาจะทำให้สมบูรณ์โดยเพียงแต่มีเจตนาตกลงกันเฉยๆหาเพียงพอไม่ ยังจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้อีก มิฉะนั้นถือว่าสัญญาไม่สมบูรณ์เป็นโมฏะดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 152
       การให้ต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ การส่งมอบทรัพย์สินที่ให้นั้นจะเป็นการแสดงออกด้วยการกระทำ หรือด้วยวาจาไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยายก้ได้[2] สุดแต่ว่าให้ทรัพย์นั้นอยู่ในเงื้อมมือของผู้รับ ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบ การให้นั้นก็หาสมบูรณ์ ไม่และทำให้ผู้รับไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรจากผู้ให้

       คำพิพากษาฎีกาที่ 904/2476  เรือนที่ปลูกติดอยู่กับที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ การยกเรือนซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กัน ถ้าไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมไม่สมบูรณ์

       สำหรับผลของการให้ที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามมาตรา 525 มีดังนี้คือ
       1.การให้ไม่สมบูรณ์

       คำพิพากษาฎีกาที่ 338/2477  การยกที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่และตึกซึ่งปลูกอยู่ในที่นั้นให้แก่กัน โดยทำหนังสือกันเองใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย

       คำพิพากษาฎีกาที่ 905/2508  การยกที่ดินมีโฉนดให้โดยเพียงแต่พูดด้วยวาจา ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อหนักงานเจ้าหน้าที่ หาชอบด้วยกฎหมายไม่

       2.กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยังเป็นของผู้ให้อยู่ หาได้โอนไปยังผู้รับแล้วไม่

       คำพิพากษาฎีกาที่ 480/2492  การยกเรือนให้ในการแต่งงานต่างตอบแทนกับค่าเรือนหอนั้น ถ้ามิได้จดทะเบียนก็ไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับ

       3.เมื่อยังไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาผู้รับจะฟ้องศาลบังคับให้มีการจดทะเบียนการให้ก็ไม่ได้

       4.การให้ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ที่ดินที่มีเพียง ส.ค.1 และ น.ส.3 แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ผู้รับก็ได้รับสิทธิครอบครองตามหลักเรื่องการสละการครอบครอง และการได้มาซึ่งการครอบครองตามหลักเกณฑ์ในเรื่องทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 และ 1378

       5.แม้การยกให้ที่มิได้โอนทางทะเบียน ผู้รับให้อาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยอาศัย มาตรา 1382 ของประมวลกฎหมายแพ่งในเรื่องการครอบครองปรปักษ์

       6.หากเป็นการยกอสังหาริมทรัพย์ให้แก่รัฐบาลหรือเทศบาล เพื่อให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 การสละให้นั้นไม่จำต้องทำการจดทะเบียนอย่างการโอนให้แก่เอกชน[3]

       7.แต่ถ้าการให้อสังหาริมทรัพย์นั้นเพื่อให้รื้อถอนไปในสภาพที่เป็นสังหาริมทรัพย์ กรณีนี้ก็ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 525

       8.การให้กระบือซึ่งไม่เคยปรากฎว่ามีทะเบียนสัตว์พาหนะ การให้สมบูรณืโดยการส่งมอบ ไม่ต้องจดทะเบียน (ฎ.1922/2522)


การเรียกให้ส่งทรัพย์สินที่ยืม
_________________________________________________________________________

       ในบางครั้งผู้ให้ก็มิได้ให้ทรัพย์สินนั้นไปเปล่าๆ โดยผู้ให้กำหนดให้ผู้รับให้ชำระค่าภาระติดพัน อันเป็นการให้ทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพันด้วย ถ้าผู้รับไม่ชำระค่าภาระติดพันดังกล่าว ก็จะมีผลให้ผู้ให้เรียกคืนทรัพย์สินได้ โดยบัญญัติที่เกี่ยวกับการให้โดยมีค่าภาระติดพันมีอยู่ 3 มาตรา ดังนี้คือ
               มาตรา 528  "ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้นั้นมีค่าภารติดพันและผู้รับละเลยเสียไม่ชำระค่าภารติด พันนั้นไซร้ ท่านว่าโดยเงื่อนไขอันระบุไว้ในกรณี สิทธิเลิกสัญญาต่างตอบแทนกันนั้นผู้ให้จะเรียกให้ส่งทรัพย์สินที่ให้นั้นคืน ตามบทบัญญัติว่าด้วยคืนลาภมิควรได้นั้นก็ได้เพียงเท่าที่ควรจะเอาทรัพย์นั้น ไปใช้ชำระค่าภารติดพันนั้น
       แต่สิทธิเรียกคืนอันนี้ย่อมเป็นอันขาดไป ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้มีสิทธิจะเรียกให้ชำระค่าภารติดพันนั้น"

       มาตรา 529  "ถ้าทรัพย์สินที่ให้มีราคาไม่พอกับการที่จะชำระค่าภารติดพันไซร้ ท่านว่าผู้รับจะต้องชำระแต่เพียงเท่าราคาทรัพย์สินเท่านั้น"


       มาตรา 530  "ถ้าการให้นั้นมีค่าภารติดพัน ท่านว่าผู้ให้จะต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิเช่น เดียวกันกับผู้ขาย แต่ท่านจำกัดไว้ว่าไม่เกินจำนวนค่าภารติดพัน"

       1.การให้ทรัพย์สินที่มีค่าภาระติดพันหมายความเช่นใด
       การให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันเป็นการให้ที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้นั้นได้โอนไปยังผู้รับแล้ว แต่มีเงื่อนไขคือภาระให้ผู้รับต้องปฏิบัติต่อไปเกี่ยวกับการให้นั้น โดยผู้ที่รับเอาทรัพย์สินที่มีภาระติดพัน ย่อมรับเอาไปทั้งทรัพย์สินและหน้าที่อันจะปลดเลื้องภาระติดพันนั้น[4]
       ภาระติดพันในทรัพย์สินที่ยกให้มีได้หลายลักษณะ เช่น
       1.ผู้ให้ยกที่ดินให้ผู้รับ แต่อาจจดทะเบียนภาระจำยอมใช้สิทธิเดินผ่านในที่ดินที่ยกให้
       2.จดทะเบียนภาระติดพันในที่ดินที่ยกให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1429
       3.การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดินตลอดชีวิตหรือต้องเก็บผลประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้ให้
       4.ให้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่บุคคลอื่นต่อไปอีกกึ่งหนึ่ง
       5.การให้ที่ดินติดจำนองหรือผู้รับออกเงินไถ่จำนอง




การถอนคืนการให้
__________________________________________________________________________

       ในบางพฤติการณ์สมควรที่จะให้มีการเพิกถอนการให้ได้ ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาเป็นของผู้ให้หรือกองมรดกผู้ให้ ประมวลแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดว่าในพฤติการณ์นั้นๆ ผู้ให้จะเพิกถอนคืนการให้
       มาตรา 531  "อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
       (1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
       (2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
       (3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลา ที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้"


       1.ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา แยกองค์ประกอบได้เป็น 4 ประการคือ
         1.ผู้รับให้ได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้ เช่นทำร้ายร่างกายผู้ให้ คำว่าประทุษร้ายต่อผู้ให้น่าจะมีความหมายว่า ทำแก่ตัวบุคคลผู้ให้เอง[5]
         หากเป็นการทำแก่ทรัพย์สินของผู้ให้ ในกรณีนี้ไม่น่าจะถือว่าเป็นการกระทำประทุษร้ายต่อผู้ให้ อันจะนำมาซึ่งสิทธิการถอนคืนการให้


         2.การะประทุษร้ายนั้นต้องเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายอาญา


         3.การประทุษร้ายนั้นต้องเป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรง อย่างไรที่จะถือว่าเป็นการประทุษร้ายถึงขั้นเป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรง ต้องพิจาณาเป็นกรณีๆไป


       2.ผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          สามารถแยกได้เป็น 2 กรณีย่อยๆ คือ
          ก.ผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือ
          ข.ผู้รับได้หมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
        ซึ่งถ้าเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งก็ถือว่าผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้ และจะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดอาญาเสมอไป คือจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งตามพิจารณาตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ตามความรู้สึกของคนธรรมดา

       3.ผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีพแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้
       องค์ประกอบที่สำคัญของเรื่องนี้มี 4 ประการคือ
       ก.ผู้ให้ยากไร้ไม่มีสิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิต
       ข.ผู้รับสามารถจะให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ได้ ซึ่งหมายความว่าผู้รับมีทรัพย์สินพอสามารถจะให้ได้ตามที่ผู้ให้ขอ
       ค.ผู้ให้ได้ขอสิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตต่อผู้รับแล้ว หมายความว่าถ้าผู้รับไม่ได้ให้ เพราะผู้ให้ไม่ได้ขอ แม้ผู้ให้จะยากไร้สักเพียงใด และแม้ผู้รับจะรู้อยู่หรือพบเห็นความเป็นอยู่ของผู้ให้แล้วก็ตาม ก็จะถือว่าประพฤติเนรคุณไม่ได้
       ง.ผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้ ซึ่งความหมายก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้รับให้ปฎิเสธไม่ให้สิ่งของจำเป็น การบอกปัดไม่ยอมให้อาจจะเป็นการปฎิเสธด้วยวาจา หรือการกระทำใดๆ ก็ได้       


เชิงอรรถ
__________________________________________________________________________

1. ^ อาจารย์ปรีชา สุมาวงศ์ เห็นว่าการใช้ในกรณ๊เช่นนี้ จะสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้รับได้รู้เห็นยินยอมด้วย,ปรีชา สุมวงศ์,เพื่ออ้าง,น.3/87
2. ^ ปรีชา สุมาวงศ์,อ้างแล้วเชิงอรรถที่31,น.342
3. ^ ปพพ. มาตรา ๑๓๐๔
            สาธารณสมบัติ ของ แผ่นดิน นั้น รวม ทรัพย์สิน ทุกชนิด ของแผ่นดิน ซึ่ง ใช้เพื่อ สาธารณประโยชน์ หรือ สงวนไว้ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
                (๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และ ที่ดิน ซึ่ง มีผู้เวนคืน หรือ ทอดทิ้ง หรือ กลับมาเป็น ของแผ่นดิน โดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
                (๒) ทรัพย์สิน สำหรับ พลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
                (๓) ทรัพย์สิน ใช้เพื่อประโยชน์ ของ แผ่นดิน โดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อม และ โรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธ ยุทธภัณฑ์

4. ^ โพยม เลขยานนท์,อ้างแล้วเชิงอรรถที่17,น.102
5. ^ วิษณุ เครืองาม,อ้างแล้วเชิงอรรถที่47,น.327




บรรณานุกรรม
__________________________________________________________________________
  • ศาสตราจารย์ ดร.ไผทชิต เอกจริยกร.คำอธิบาย ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้,(กรุงเทพฯ:วิญญูชน,พ.ศ.2552.
  • รศ.พรชัย สุนทรพันธุ์.วิชาเอกเทศสัญญา1 ส่วนที่1,(กรุงเทพฯ:Assumption University of Thailnad)
  • http://www.oknation.net/blog/nutbbc/2008/03/21/entry-1
  • http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538628167 
  • http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89